การค้นหา 'สินทรัพย์' อันแท้จริง ท่ามกลางเงินธนบัตรที่กำลังหมดคุณค่า
ในขณะนี้ ความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย คือการเฝ้าดูค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสามอาทิตย์ที่ผ่านมา และค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มที่จะมีค่าเงินขึ้นอีก เพราะขณะนี้เงินสกุลดอลลาร์ ปอนด์ ญี่ปุ่น เงินสกุลยูโร และรวมถึงเงินหยวนของจีน ต่างก็กำลังพิมพ์ธนบัตรเงินสกุลของตนเองออกสู่ระบบการเงินอย่างมหาศาล โดยมีเจตนาที่จะทำให้เงินสกุลของตนนั้น มีค่าอ่อนลง
ผลก็คือเงินสกุลเหล่านี้ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ ที่เป็นเงินหลักของเงินสกุลทั้งหลาย ต่างก็แห่กันมาจมในตลาดเงินของไทย และประเทศในแถวภูมิภาคนี้ เพราะดอกเบี้ยของเงินสกุลดอลลาร์ต่ำกว่าผลตอบแทนทางอัตราดอกเบี้ยของเงินบาทไทย แน่นอน นักลงทุนก็ย่อมต้องการแสวงหาผลตอบแทนทางอัตรดอกเบี้ยที่สูงกว่า ค่าเงินบาทก็เลยแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง
มีการมองกันว่า ทางธนาคาของประเทศไทย อาจจะทำการ 'สกัด' ค่าเงินดอลลาร์ โดยเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ที่ไหลทะลักเข้ามา โดยมีวัตถุประสงค์ที่ว่า การเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ในปริมาณหนึ่ง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเงินดอลลาร์มากขึ้น เงินบาทน้อยลง ก็อาจทำให้เงินบาทอ่อนตัวลง
แต่สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ ในปัจจุบัน ต่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีเงินมากมายขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปทำการซื้อเงินดอลลาร์เพื่อทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงได้เลย
เพราะในปัจจุบัน ธนาคารแห่งสหรัฐอเมริกา ทำการพิมพ์เงินดอลลาร์อย่างไม่ยั้งมือ และเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน ก็ไม่เหมือนกับเงินดอลลาร์ในอดีต เพราะเงินดอลลาร์ในอดีตนั้น เรียกว่าเป็นเงินจากระบบที่ผูกติดที่มาจากภาคอุปทาน(system of commodity money of essentially fixed supply) คือปริมาณเงินจะต้องมาจากการเรียกร้องทางภาคอปสงค์และอุปทาน(demand and supply) เงินดอลลาร์ในอดีตจึงต้องผูกติดกับสินทรัพย์(asset)ที่สามารถเปรียบเทียบเคียงกันได้)
ในครั้งหนึ่ง มีการให้นิยามต่อเงินดอลลาร์ว่า เป็นเงินจำนวนหนึ่งที่สามารถนำไปเทียบเคียงกับทองคำ อย่างในสหรัฐอเมริกา ในครั้งหนึ่ง เราสามารถนำเงินไปที่ธนาคารเพื่อขอแลกเป็นทองคำ และทางธนาคารเองก็สามารถที่จะนำทองคำไปแลกเปลี่ยนกับทางกระทรวงการคลัง เพื่อแลกซื้อเป็นเงินดอลลาร์ได้
แต่หลังจากปี 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้ออกนโยบายห้ามไม่ให้กระทรวงการคลังของสหรัฐฯทำการแลกเปลี่ยนทองคำกับต่างชาติที่ต้องการซื้อเงินดอลลาร์ ก็เลยทำให้ในปัจจุบัน กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ไม่สามารถมอบการแลกเปลี่ยนที่เป็น 'รูปธรรมและจับต้องได้(tangible)' และแม้ว่าธนาคารกลางจะยังคงเรียกเงินดอลลาร์ว่า ว่าเป็น 'ข้อผูกมัดที่สหรัฐอเมริกามีต่อการแลกเปลี่ยนทางการเงิน' แต่ดูจากสภาพธรรมชาติของเงินดอลลาร์ในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่า เงินดอลลาร์ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดกับใครเลยทั้งสิ้น
ทางรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา ให้คำนิยามว่า เงินดอลลาร์ ตามกฎหมายนั้น เทียบเป็นอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1/42.22 ออนซ์ของทองคำ ฟังดูแล้วก็ดูน่าจะเป็นตามที่รัฐสภาของอเมริกาฯให้ความหมายว่าเงินดอลลาร์เทียบกับทองคำได้เท่าใด แต่คุณลองไปที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ แล้วบอกว่าคุณมีเงินดอลลาร์เพื่อต้องการจะซื้อทองคำ สิ่งที่คุณได้ก็คือ คุณจะกลับบ้านโดยไม่มีอะไรติดมือเลย นอกจากคุณเอาเงินดอลลาร์ไปซื้อสินค้าในตลาด คุณก็จะได้สินค้าจากตลาดที่คุณไปมา แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าที่คุณได้มานั้น ก็ไม่สามารถนำไปอ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดตามกฏหมายว่า เงินดอลลาร์มีค่าอยู่ที่ 1/42.22 ออนซ์ เพราะราคาสินค้าที่คุณเข้าไปซื้อนั้น สามารถถูกปรับราคาขึ้นลง(ส่วนใหญ่ขึ้น) โดยเงินดอลลาร์ของคุณไม่สามารถทำการผูกติดกับอัตราแลกเปลี่ยนกับสินค้าได้ เงินดอลลาร์ไม่ได้ป็นเงินจากระบบที่ผูกติดที่มาจากภาคอุปทาน(system of commodity money of essentially fixed supply)อีกแล้ว
ผลก็คือ เงินดอลลาร์ได้กลายเป็นเงินที่ค่าเสถียรภาพ เพราะเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน ไม่ได้รับการหนุน หรือ back จากอะไรทั้งสิ้น บางคนอาจกล่าวว่า เงินดอลลาร์ก็ได้รับการหนุนจากกระทรวงการคลังฯอยู่แล้ว โดยที่กระทรวงการคลังฯสหรัฐอเมริกา ได้ทำการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินจากประชาชนมาใช้ในการหนุนหรือ back เงินดอลลาร์ได้อยู่แล้ว
แต่เงินพันธบัตรที่มาหนุนเงินดอลลาร์ เป็นเงินที่รัฐบาลก่อหนี้ขึ้นมามิใช่หรือ ก็แสดงว่าเงินดอลลาร์ได้รับการหนุนจาก 'หนี้' สิครับ! อีกอย่างก็คือ พันธบัตรของรัฐบาลนั้น มีอายุสัญญาในการจ่ายคืนแก่ผู้ซื้อพันธบัตร และเมื่อถึงการกำหนดจ่าย รัฐบาลก็ต้อง 'พิมพ์' เงินดอลลาร์ออกมาเพื่อจ่ายให้กับผู้ซื้อพันธบัตรพร้อมดอกเบี้ยด้วย และรัฐบาลก็จะทำการออกพันธบัตรอีกครั้งต่อประชาชน พร้อมกับพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาอยู่เรื่อยๆ เพื่อหนุนเงินดอลลาร์จากหนี้ที่ถูกก่อรอบใหม่ขึ้นมา เป็นอย่างนี้เรื่อยไป
ดังนั้น หน้าที่ของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือหน้าที่ของธนาคารกลางในโลกนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของการควบคุมปริมาณเงิน หรือสร้างปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่หน้าที่ของธนาคารกลางในปัจจุบัน คือการให้ความสะดวกแก่รัฐบาล ผ่านทางกระทรวงการคลัง ในการออกเครดิตให้กับรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังให้ง่ายขึ้น(facilitating credit) คือทำให้มีการพิมพ์ธนบัตรเข้าสู่ระบบการเงินอย่างไม่อั้น รัฐบาลฯโดยผ่านทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สามารถ 'รูดเครดิต' ได้อย่างสบายมือ
และนั่นคือสิ่งที่ผมได้กล่าวมาตอนต้นว่า ไม่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์มากเพียงใด ก็ไม่สามารถหยุดหรือสกัดการไหลเข้ามาของเงินดอลลาร์ได้ เพราะเงินดอลลาร์ไม่ได้มีอะไรหนุนอีกต่อไป จะพิมพ์สักเท่าใดก็ได้
ค่าเงินบาทในปัจจุบัน จึงต้องแข็งตัวต่อไป และความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเข้าไปสกัดเงินดอลลาร์ หรือเงินยูโป โดยการเข้าไปซื้อเงินสกุลเหล่านี้ ก็หมายความว่า ในที่สุดทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คงต้องออกพันธบัตร มิฉะนั้นนโยบายในการคงอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิน 3% คงไปได้ด้วยความลำบาก และถ้าไม่ทำ สภาพเงินเฟ้อก็จะปรับตัวสูงขึ้น สินค้าในตลาดก็จะแพงมากขึ้น
ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือหัวข้อที่ผมได้พูดถึงการหา 'สินทรัพย์' ที่แท้จริงในชีวิตของพวกเราจากนี้ไป เพราะต่อแต่นี้ไป เราคงเชื่อใจเงินกระดาษไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่เราควรทำ(ขอโทษน่ะครับ ไม่ได้มีเจตนาเทศน์ต่อท่านผู้อ่าน) คือการเข้าใจว่า อะไรคือสินทรัพย์แท้ในชีวิตของเรา สำหรับผมแล้ว สินทรัพย์ที่แท้จริงนั้น คือ
1 สุขภาพของเรา คุณดูแลสุขภาพของคุณเป็นอย่างไร เพราะถ้าคุณมีสุขภาพดี คุณก็มีกำลังทางปัญญาในการมองปัญหาเหล่านี้ด้วยสติ และถ้าคุณมีสุขภาพดี คุณก็จะไม่เป็นภาระใคร เช่นการวิ่งหรือเดินเร็ว วันหนึ่งสักสามถึงห้ากิโลเมตร
2 หมั่นหาความรู้ เรียนวิชาการใหม่ๆ อย่างโรงเรียนสารพัดช่างต่างๆ ก็มีหลักสูตรที่น่าสนใจ และราคาก็ถูก เช่นวิธีการก่อปูนเอง ทาสีเอง ตัดผม หรือซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์เบื้องต้น ฯ ทักษะเหล่านี้ ถ้าคุณฝึกได้ ก็สามารถนำไปใช้กับการดูแลซ่อมแซมบ้านเรือนของตนเอง หรือช่วยดูแลซ่อมแซมบ้านหรือเครื่องใช้ญาติของคุณ ตลอดจนเพื่อนๆของคุณได้ ความสามารถเหล่านี้ จะนำความภูมิใจมาสู่คุณ ไม่ต้องคิดฟุ้งฟ่านต้องไปเดินห้างฯให้เสียเงิน และคุณจะได้รับการรักใคร่จากญาติมิตรและเพื่อนๆ อีกด้วย
3 หัดเรียนภาษาต่างประเทศ การฝึกเรียนภาษาต่างประเทศ จะเป็นประโยชน์ต่อเซลล์สมองคุณมาก ทำให้ท่านหลีกเลี่ยงอาการโรค Alzheimer ได้ เพราะตัว synapse หรือตัวจุดประสานประสาท สื่อสารและถ่ายทอดข้อมูลในระบบประสาท ให้มีการตื่นตัวเสมอ เหมือนกับเอาเซลล์สมองไปยกกล้าม การเรียนภาษาต่างประเทศจึงเป็นประโยชน์แก่สมองคุณมาก หรืออย่างเช่นไม่ชอบประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ คุณก็อาจเรียนภาษาของพวกเขา เผื่อคุณจะได้ด่าเขาอย่างเต็มปากในภาษาของเขา หรือการเรียนภาษาพวกเขา อาจจะทำให้คุณเข้าใจพวกเขามากขึ้นก็ได้ นำมาซึ่งความสุขให้แก่คุณ ลดโรคความดันกับเบาหวานให้แก่คุณเป็นอย่างดี แถมคุณยังได้ภาษาอีกหนึ่งภาษาให้กับตัวคุณด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น